ปูนซีเมนต์คืออะไร แบ่งได้กี่ชนิด ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
หากกล่าวถึงปูนซีเมนต์แล้ว คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะปูนซีเมนต์เป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่สามารถพบเจอได้ทุกที่ และเนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความทนทานแข็งแรงจึงได้รับความนิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างเกือบทุกประเภท แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าปูนซีเมนต์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับงานแบบใด เราจะพาไปทำความรู้จักกัน ดังนี้ ปูนซีเมนต์คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ปูนซีเมนต์” คือ ส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตคอนกรีตต่าง ๆ โดยหน้าที่ของปูนซีเมนต์จะเป็นตัวประสานและยึดส่วนผสมอื่น ๆ ให้อยู่ติดกัน เช่น หิน ทราย และเหล็ก เป็นต้น ซึ่งปูนซีเมนต์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้ 1.เนื้อปูนขาว คือส่วนที่มีองค์ประกอบของแคลอเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate.CaCo3) เช่น หินปูน (Limestone) ชอล์ก (Chalk) และดินขาว (Marl) เป็นต้น ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้เป็นส่วนของเนื้อปูนจะต้องมีความบริสุทธิ์อย่างน้อย 85% ขึ้นไป ถึงจะนำมาใช้เป็นส่วนผสมในปูนซีเมนต์ได้ 2.เนื้อดิน คือวัสดุที่มีองค์ประกอบของซิลิกา เช่น ซิลิคอนไดออกไซด์ (Silicon Dioxide, SiO2) อะลูมินัมออกไซด์ (Aluminum Oxide, Al2O3) และเฟอร์ริกออกไซด์ (Ferric Oxide, Fe2O3) เป็นต้น ซึ่งสามารถพบได้มากในหินดินดานและดินดำ 3.ส่วนปรับคุณภาพ เป็นส่วนที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อเพิ่มคุณภาพของปูนให้มีความสมบูรณ์ โดยการทดสอบเนื้อปูนที่ได้ หากมีส่วนผสมใดขาดไป ก็ให้ทำการเติมส่วนปรับคุณภาพนี้เข้าไป เพื่อให้ได้เนื้อปูนที่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ส่วนปรับคุณภาพ เช่น ทราย (ในกรณีที่ต้องการซิลิคอนไดออกไซด์) แร่เหล็กหรือดินลูกรัง, (ในกรณีที่ต้องการเฟอร์ริกออกไซด์) และดินอะลูมินา (ในกรณีที่ต้องการอะลูมินัมออกไซด์) เป็นต้น นอกจากส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันยังมีการเพิ่มสารเติมแต่งเข้าไปในปูนซีเมนต์เพื่อเพิ่มคุณภาพให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น เช่น แร่ยิปซัมที่ช่วยให้ปูนแห้งช้า เป็นต้น ชนิดของปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อสร้าง หากกล่าวถึงปูนซีเมนต์แล้ว หลายคนมักคิดว่าปูนซีเมนต์นั้นมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วปูนซีเมนต์นั้นมีอยู่ถึง 5 ชนิดด้วยกัน ดังนี้ 1.ปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป (Ordinary Portland cement) หรือปูนซีเมนต์ประเภทที่ 1 ซึ่งก็คือ ปูนซีเมนต์ที่ใช้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วไปที่ต้องการความแข็งแรงทนทานและรองรับน้ำหนักได้สูง เช่น ถนน สะพาน เสาอาคาร คาน และงานฐานราก เป็นต้น ถึงแม้จะมีความแข็งแรง ทนทานสูง แต่ปูนชนิดนี้กลับไม่ทนต่อการกัดกร่อนของเกลือซัลเฟอร์หรือสารที่เป็นด่าง เช่น น้ำทะเล เป็นต้น 2.ปูนซีเมนต์ดัดแปลง (Modified Portland cement) หรือปูนซีเมนต์ประเภทที่ 2 โดยเป็นปูนซีเมนต์ที่มีปรับปรุงคุณภาพให้มีความทนทานต่อเกลือซัลเฟอร์หรือสารที่เป็นด่างสูงขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถกักเก็บความร้อนได้ดี จึงนิยมใช้ปูนชนิดนี้ในการสร้างโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้แหล่งซัลเฟอร์ที่มีความเป็นด่างสูง เช่น ทะเล และป่าชายเลน เป็นต้น 3.ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ให้กำลังอัดเร็ว (High-early Strength Portland cement) หรือปูนซีเมนต์ประเภทที่ 3 คือ ปูนซีเมนต์ที่มีความละเอียดสูงมาก คุณสมบัติของปูนชนิดนี้ คือ แข็งตัวเร็ว จึงเหมาะกับงานด่วน เพราะสามารถถอดแบบได้เร็วกว่าการใช้ปูนชนิดอื่น แต่ว่าต้องมีการบ่มปูนให้เหมาะสมด้วยจึงจะทำคอนกรีตที่เทมีความแข็งแรง นิยมนำมาใช้ในการทำคอนกรีตอัดแรง เสาเข็ม พื้นถนน พื้นสำเร็จรูป เป็นต้น 4.ปูนซีเมนต์ที่มีอัตราความร้อนต่ำ (Low-heat Portland cement) หรือปูนซีเมนต์ประเภทที่ 4 คือ ปูนที่มีอัตราการคายความร้อนต่ำ ทำให้คอนกรีตมีการแข็งตัวอย่างช้าและมีความแข็งแรงไม่เกิดการแตกร้าว แม้จะอยู่ในภาวะที่มีความเย็นสูงหรือความร้อนสูง เหมาะกับงานที่ต้องใช้คอนกรีตเป็นจำนวนมากในการก่อสร้าง เช่น การสร้างเขื่อน เป็นต้น 5.ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทนซัลเฟตได้สูง (Sulfate Resistance Portland cement) หรือปูนซีเมนต์ประเภทที่ 5 คือ ปูนซีเมนต์ที่ออกแบบมาให้มีความทนทานต่อความเป็นด่างหรือซัลเฟอร์ตามธรรมชาติ เช่น น้ำทะเล ดินเค็ม เป็นต้น สามารถนำมาใช้ได้กับงานทุกประเภทที่อยู่ใกล้ทะเล ป่าชายเลนหรือแหล่งน้ำเค็มทั่วไป ชนิดของปูนซีเมนต์สำหรับงานตกแต่ง นอกจากปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อสร้างทั้ง 5 ประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีการพัฒนาปูนซีเมนต์สำหรับใช้ในงานตกแต่งภายในและภายนอกขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสะดวกและความสวยงามให้กับอาคารบ้านเรือน นั่นคือ 1.ปูนซีเมนต์ผสม คือ ปูนซีเมนต์ประเภทที่ 1 ที่ผสมด้วยวัสดุเฉื่อยลงไป เพื่อให้ปูนมีความเหนี่ยวยึดเกาะผนังได้ดี แห้งช้า จึงเหมาะกับงานฉาบหรืองานตกแต่งที่ต้องใช้ความประณีตและเวลาในการทำงาน แต่ว่าปูนชนิดนี้ไม่รองรับน้ำหนักได้น้อยจึงไม่เหมาะกับงานโครงสร้างหรืองานฐานราก 2.ปูนซีเมนต์ขาว คือ ปูนที่ผลิตมาเพื่อใช้ในงานตกแต่งเพื่อความสวยงามเป็นหลัก มีลักษณะเป็นสีขาว แข็งตัวช้า ยึดเกาะดี ความทนทานและรองรับน้ำหนักได้น้อย ไม่เหมาะกับงานโครงสร้างและงานฐานราก จะเห็นว่าปูนซีเมนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีคุณสมบัติที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้งานให้เหมาะสม เพื่อที่ตัวงานจะมีความแข็งแรงทนทานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น
Comments